Saturday, 21 May 2011

เห็ดโคนน้อย

เห็ดโคนน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าโคไพรนัส ไฟมิทาเรียส (Coprinus fimetarius) จัดเป็นราชั้นสูง แต่เป็นคนละสกุลกับเห็ดโคนธรรมชาติหรือเห็ดปลวก เดิมในประเทศไทยเห็ดชนิดนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปเนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เช่น ในภาคเหนือจะเรียก เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียก เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย และภาคกลางจะเรียกว่า เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก ลักษณะของเห็ดโคนน้อยมีลักษณะดังนี้ หมวกดอก เมื่อดอกเห็ดเจริญเต็มที่จะคล้ายร่มพับ ปลายแหลมมน ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ไปจนกระทั่งขาวตรงปลายหมวกดอก มีขนาดตั้งแต่ 0.5-1.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความแข็งแรงของดอกเห็ดและสภาพแวดล้อม เมื่อดอกเห็ดแก่ หมวกดอกจะบาง สีคล้ำ หมวกดอกจะกางออก จนกระทั่งแก่เต็มที่หมวกดอกจะบางมาก สร้างสปอร์สีเทาเยิ้ม จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสีดำและเน่าเละไปในที่สุด ครีบ คือส่วนที่อยู่ใต้หมวกดอก มีลักษณะเป็นแผ่นเล็กๆ เรียงกันเป็นรัศมีจากจุดใกล้ก้านดอก ดอกเห็ดที่สมบูรณ์จะมีจำนวนครีบประมาณ 100-150 ครีบ โดยมีระยะห่างประมาณ 0.2 มิลลิเมตร สีของครีบจะเปลี่ยนจากสีขาวในขณะที่ยังเล็กจนถึงกึ่งบาน ไปเป็นสีดำจากข้างล่างสุดของหมวกดอก ด้านนอกสุดของครีบ และลามไปสู่ปลายยอดในที่สุด ก้านดอก คือส่วนที่ชูหมวกดอก เชื่อมอยู่ระหว่างส่วนฐานและตรงกลางหมวกของดอกเห็ด มีการเรียงตัวของเส้นใยเป็นแบบขนานกับความยาวของก้านดอก มีสีขาว ลักษณะก้านดอกเรียวตรง ส่วนตรงโคนฐานโตกว่าเล็กน้อย ก้านจะสูงชะลูดอย่างรวดเร็ว เมื่อหมวกดอกเริ่มบาน ภายในกลวง บอบบาง หักหรือล้มง่าย ขนาดของก้านจะโตอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 เซนติเมตร ไม่มีวงแหวนหุ้ม ส่วนความยาว เมื่อแก่เต็มที่ อาจจะยาวเกิน 12-15 เซนติเมตร 

เห็ดโคนน้อยเป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย มีการเพาะเลี้ยงกันมากในต่างประเทศ เห็ดชนิดนี้นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้สูง 90 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไปที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มีสารพิษ เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม ดังนั้นจึงเริ่มมีผู้นำเห็ดโคนน้อยมาเพาะเป็นการค้า เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีรสชาติใกล้เคียงแม้ว่าจะไม่เทียบเท่าเห็ดโคน โดยตั้งชื่อให้เป็นจุดสนใจว่าเห็ดโคนน้อย ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ของเชื้อเห็ดถั่วที่มีลักษณะดีนำมาเพาะเลี้ยงจนกระทั่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยเช่นเชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร ลพบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีเทคนิคในการเพาะแตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานวิธีการเพาะก็คล้ายๆ กับเห็ดฟางนั่นเองซึ่งทำได้ง่ายและให้ผลผลิตค่อนข้างดี สำหรับวัสดุเพาะใช้ได้ทั้งต้นถั่วแห้ง ฟางข้าว ผักตบชวาแห้ง ต้นกล้วย เปลือกมันสำปะหลัง ซากทะลายปาล์มน้ำมัน กาบมะพร้าว ชานอ้อย ขี้ฝ้ายและไส้นุ่น สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี เก็บผลผลิตได้ภายใน 5-6 วัน ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยทั่วไปคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด จึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้นทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง ของเหลวจากการสลายตัวนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นในต่างประเทศนำมาทำน้ำหมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จากการศึกษาพบว่าดอกเห็ดเมื่อเจริญเต็มที่จะสลายตัวภายใน 16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสลายตัวใช้เวลา 18 ชั่วโมง และที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลา 20 ชั่วโมง 

สำหรับปัญหาของการย่อยสลายตัวเองของเห็ดโคนน้อยก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยเมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้วก็นำไปแปรรูปเป็นเห็ดโคนน้อยบรรจุขวด โดยนำเห็ดที่เกลาแล้วมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปลวกน้ำร้อนให้สุกปล่อยให้สะเด็ดน้ำ 5 นาที นำไปบรรจุลงขวดที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเติมน้ำเกลือเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ จนเต็มแล้วนำไปนึ่งต่ออีก 10-25 นาที ปิดฝาขวดแล้วนำไปใส่หม้อนึ่งความดันไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้ออีก 30 นาที เมื่อเย็นแล้วปิดผนึกฝาขวดก็สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำมาแปรรูปในลักษณะอื่นๆ อีกเช่นเห็ดอบแห้ง เห็ดทุบเป็นต้น ท่านผู้ฟังเมื่อได้ฟังเรื่องราวของเห็ดโคนน้อยแล้วท่านใดที่สนใจวิธีการเพาะเห็ดโคนน้อยก็อาจหาซื้อวิธีการเพาะเห็ดโคนน้อยจากสื่อต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือวีซีดีที่มีขายตามท้องตลาดหรือถ้าสนใจแต่หาซื้อไม่ได้เอาไว้คราวหน้ากระผมจะบอกวิธีการเพาะเห็ดโคนน้อยอย่างละเอียดเลยครับ 

Source : นายสุดสายชล หอมทอง (ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์)

No comments:

Post a Comment