เห็ดแครง มีชื่อเรียก หลายชื่อ ตามแต่ละพื้นที่ คือ เห็ดแก้น เห็ดตามอด เห็ดแต้บ เห็ดตีนตุ๊กแก (เหนือ) และ เห็ดแครง (ใต้) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าชิโซไฟลัม คอมมูน (Schizophyllum commune) สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยขึ้นบริเวณ กิ่งไม้ ขอนไม้ เปลือกไม้ ซึ่งถ้าเนื้อไม้แห้ง และได้รับความชื้นก็จะมีเห็ดชนิดนี้ขึ้น โดยจะขึ้นเป็นกลุ่มและงอกซ้อนกันเป็นชั้นๆ กระจายเต็มท่อนไม้ หรือกิ่งไม้แห้ง ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็อาจจะขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจัดกระจายกันบ้าง ลักษณะดอกเห็ดมีขนาดเล็กรูปพัด หรือตีนตุ๊กแก สีขาวหม่น ขนาด 1.3 x 1.4 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีขนละเอียดสีเดียวกัน ด้านล่างมีครีบสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมม่วง ซึ่งเรียงเป็นรัศมีออกไปจากฐานดอก มองดูคล้ายลายหอยแครง ไม่มีก้านหรือมีก็สั้นมาก เห็ดชนิดนี้เมื่อนำมาพิมพ์สปอร์จะมีสีขาวรูปร่างเป็นท่อนสั้นๆ เมื่อนำมาส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์สปอร์จะมีสีใส รูปร่างเป็นทรงกระบอกขนาด 3-4 x 1-1.5 ไมโครเมตร เวลาอากาศแห้งขอบหมวกเห็ดจะงอหรือม้วนเข้าข้างล่างเล็กน้อย และจะมีการแยกออกจากกันเข้าไปเกือบครึ่งดอกเป็นแห่งๆ มองดูคล้ายนิ้วเท้า หรือนิ้วมือของตุ๊กแก ดอกเห็ดเวลาแห้งแล้วจะมีลักษณะแข็งและเหนียวเล็กน้อย และจะคงรูปร่างอยู่นานหลายเดือนหรือจนกว่าจะค่อยๆ ผุเปื่อยไป เห็ดแครงนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ของประเทศไทย โดยส่วนมากนำไปทอดกับไข่ หรือนำไปแกงคั่วกับเนื้อสัตว์ สมัยก่อนสามารถพบเห็ดในตลาดท้องถิ่นได้เกือบตลอดปี โดยชาวบ้านเก็บเห็ดที่ขึ้นบนท่อนไม้โดยเฉพาะท่อนไม้ยางพาราจะพบเห็ดแครงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเห็ดแครง เริ่มหายากขึ้น เพราะไม้ยางพารามีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้น พื้นที่ป่าก็เหลือน้อยลงและได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ทำให้กว่าจะได้รับประทานเห็ดแครงก็ต้องรอให้ถึงช่วงหน้าฝนแต่ก็พบไม่มากเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นจึงมีเกษตรกรได้ทำฟาร์มสำหรับการเพาะเห็ดแครงขึ้นมาเพื่อส่งขายตามตลาดซึ่งราคาขายส่งออกจากฟาร์มประมาณ 100-120 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเห็ดที่มีราคาแพงพอสมควร โดยวิธีการเพาะเลี้ยงใช้วิธีเดียวกับเห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า นางรม เพียงแต่จะใช้สูตรอาหารที่แตกต่างกัน สำหรับสูตรที่ใช้เพาะเห็ดแครงและประสบความสำเร็จมากในปัจจุบันจะใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 50 กิโลกรัม ภูไมท์ 2 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม และดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ผสมน้ำสะอาดให้มีความชื้นร้อยละ 70-75
ถึงแม้เห็ดแครงเป็นเห็ดที่มีดอกขนาดเล็ก แต่ก็รู้จักกันแพร่หลายเนื่องมาจากรสชาติความอร่อย เห็ดแครงเป็นเห็ดที่มีแร่ธาตุอาหารต่างๆ ที่ไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ ในประเทศจีนมีการแนะนำให้คนไข้ที่เป็นโรคระดูขาว รับประทานเห็ดแครงที่ปรุงกับไข่เพื่อรักษาโรค และรับประทานร่วมกับใบชาโดยต้มเห็ดแครง 9 – 16 กรัม กับน้ำรับประทานวันละประมาณ 3 ครั้ง ใช้เป็นอาหารบำรุงร่างกาย ในประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นยาเนื่องจากพบสารประกอบพวกโพลีแซคคาไรด์(polysaccharide) ชื่อว่าชิโซไฟแลน (Schizophyllan) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัส และยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิดซาร์โคมา 180 (Sarcoma 180) และซาร์โคมา 37 (Sarcoma 37) ในหนูขาว ได้มากกว่าร้อยละ 70 นอกจากนี้ยังมีการรักษาคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารจำนวน 367 คน พบว่าคนไข้ที่ได้รับสารชิโซไฟแลนร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งพบว่าคนไข้จะมีชีวิตยืนกว่าพวกที่รักษาโดยใช้ยาอย่างเดียว และเมื่อใช้สารนี้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกร่วมกับการฉายรังสี พบว่าคนไข้มีอายุยืนกว่ารักษาด้วยการฉายรังสีถึง 5 ปี ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีการผลิตสารชิโซไฟแลนออกมาจำหน่ายเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากเห็ดแครงจะเป็นอาหารยอดนิยมของชาวใต้ ใช้เป็นอาหารบำรุงร่างกายและรักษาโรคแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา "ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง" พบสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอผิวหนังแก่ก่อนวัยและช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนัง โดยครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครงนี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติช่วยให้ความอ่อนโยนต่อผิวหนัง โดยเนื้อครีมจะมีสีขาวนวลและมีความชุ่มชื้นสูง หากมีการใช้สม่ำเสมอจะช่วยให้ผิวหนังดูอ่อนวัย อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ เนื่องจากผิวหนังของมนุษย์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและที่วัยเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครงอยู่ในรูปแบบครีมบำรุง ใช้ทาผิวได้บ่อยตามต้องการ เหมาะกับผิวทุกส่วนของร่างกาย ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าเห็ดแครงซึ่งเป็นเห็ดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักดีของคนทั่วไปนั้นมีประโยชน์มากมายซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นเห็ดที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนหรือประเทศได้ถ้ามีการส่งเสริมให้มีการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและเครื่องสำอาง ซึ่งสามารถลดการนำเข้ายาและเครื่องสำอางจากต่างประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท ดังนั้นถ้าท่านผู้ฟังท่านใดสนใจการเพาะเห็ดแครงก็ควรศึกษาวิธีการเพาะและตลาดของเห็ดแครงก่อนจะลงมือทำการเพาะ
Source : นายสุดสายชล หอมทอง (ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์)
No comments:
Post a Comment