Sunday 22 May 2011

เห็ดหูหนู (Jelly mushroom)

 เห็ดลักษณะเฉพาะของเห็ดหูหนู 
หูหนูเป็นเห็ดที่มีรสชาติดี กลิ่นหอม กินอร่อยไม่ว่าจะนำมาปรุงอาหารประเภท ใดเห็ดหูหนูก็ยังคงสภาพการกรอบอยู่เสมอและมีปริมาณโปรตีน วิตามิน เกลือ แร่ ที่สูงและยังมีคุณสมบัติเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย เห็ดหูหนูเมื่อนำมาตาก แห้งจะสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมคุณภาพ
ใน ธรรมชาติเห็ดหูหนูเจริญได้ดีในเขตร้อน โดยเฉพาะสภาพอากาศเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็ดหูหนูจะเจริญเติบโตบนขอนไม้ที่เริ่มเปื่อยผุพัง ชาวจีนนับว่าเป็นชาติแรกที่รู้จักวิธีการเพาะเห็ดหูหนูโดยการตัดไม้โอ๊กเป็น ท่อนๆ มาเพาะ แต่ประเทศไทยได้ทดลองเพาะเห็ดโดยการตัดไม้แคมากองสุมกันไว้ พอถึงฤดูฝนไม้จะเริ่มผุ และเห็ดหูหนูเกิดขึ้น เห็ดหูหนูเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบกับประเทศไทยมีวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดหูหนูอย่างเหลือเฟือ เช่น ฟางข้าว ไม้เนื้ออ่อน ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด



++ ชีววิทยาของเห็ดหูหนู ++

ชื่อสามัญ : Jelly mushroom
Subdivision : Basidiomycotina
Class : Hymenomycetes
Subclass : Phragmobasidiomycetidae
Order : Tulasnellales (jelly fungus)
Family : Auriulariaceae
Genus : Aauricularia
สำหรับชนิดบางจะถูกจัดไว้อีกสกุลหนึ่ง ส่วนเห็ดหูหนูขาว หรือ White jelly fungus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tremella fuciformis Berk. และถูกจัดไว้ในวงศ์ หรือ Family Tremellaceae

++ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ++
ลักษณะดอกเห็ดมีเยื้อเป็นวุ้น (gelatinous structure) รูปร่างคล้ายหู (ear – shaped) บางพันธุ์จะมีขนละเอียดๆ ที่ผิวด้านล่างของดอก ก้านดอกสั้น หรือบางพันธุ์ก็ไม่มี ดอกเห็ดประกอบด้วย เส้นใยพวก binucleate hyphae ซึ่งมี dolipore septum และ clamp connection hymenium อยู่ด้านล่างของดอก basidium รูปทรงกระบอกมีผนังกั้นตามขวาง 3 อัน แบ่ง basidium ออกเป็น 4 เซลล์ แต่ละเซลล์จะสร้าง epibasidium ยืดยาวออกออกมาและส่วนปลายของ basidiospore รูปโค้งคล้ายไต ไม่มีสี basidiosporeของ A. auricular judae มีขนาด 5-6X10.45 – 12.5 ไมครอน และ A. polytricha 6.25×12.5 – 15 ไมครอน basidiospore เมื่อรวมกลุ่มกันมากๆ จะเห็นเป็นสีขาว

การพัฒนาของดอกเห็ดหูหนูบนท่อนไม้สามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะ : คือ
ระยะที่ 1 : primodial stage เป็นระยะที่เห็ดเริ่มสร้างดอกเห็ด จะเห็นจากใส่เชื้อบนท่อนไม้ 18 วัน มีลักษณะกลม สีม่วงจนถึงสีน้ำตาล ต่อมาอีก 4 – 5 วัน จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร
ระยะที่ 2 : Small or thick – cup stage ดอกเห็ดระยะนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.7 เซนติเมตร จะมีการเรียงตัวของเนื้อเยื้อเหมือนกับดอกเห็ดที่โตเต็มที่แล้ว
ระยะที่ 3 : Thin cup stage ขอบของดอกขยายออกและเริ่มบาง มีสีน้ำตาลอ่อน การเจริญของขอบไม่เท่ากัน มีด้านหนึ่งเจริญมาก เส้นผ่านศูนย์กลางของดอกประมาณ 2 – 3.5 ซม. ดอกหนาประมาณ 1.3 มิลลิเมตร อาจพบกลุ่มของสปอร์สีขาวบนดอกเห็ด
ระยะที่ 4 : Expanded plain – edged stage ดอกเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่หลังจากระยะที่ 3 ประมาณ 1 อาทิตย์
ระยะที่ 5 : Expanded, wavy – edged stage ระยะนี้ต่อจากระยะที่ 4 ต่างกันเฉพาะขอบของดอกเห็ดจะหยัก


** ระยะเวลาจากระยะ 1 ถึง 3 เห็ดเจริญช้า แต่จาก 4-5 จะเจริญได้อย่างรวดเร็ว

วงจรชีวิตของเห็ดหูหนู : Basidiospore ของเห็ดหูหนูจะแบ่งเป็นหลายเซลล์ขณะที่งอก การงอกของ basidiospore อาจจะเป็นได้ 2 ลักษณะ คือ

1. basidiospore ที่แบ่งเซลล์แล้วงอก
2. basidiospore จะงอก germ tube เล็กและสั้นหลายอัน แต่ละอันก็จะสร้าง conidium ซึ่งมีขนาดเล็กและโค้ง ซึ่งในที่สุดก็จะหลุดออกไปแล้วงอกให้เส้นใยขั้นต้น 

ลักษณะการสืบพันธุ์ : เป็นแบบ bipolar heterothallic โดย uninucleate hyphae ซึ่งเจริญมาจาก basidiospore มีการรวมตัวกันแล้วclamp connection ถูกสร้างขึ้นได้เป็น dikaryotic hyphae ซึ่งเจริญต่อไปเป็นดอกเห็ดภายในดอกเห็ด basidium จะถูกสร้างที่ปลายเส้นใย ในส่วนของ hymenium เกิดการรรวมตัวของนิวเคลียส (karyogamy) ขึ้นภายใน basidiumได้ zygote นิวเคลียสซึ่งจะแบ่งตัวแบบไมโอซีส ขณะเดียวกับ basidium แบ่งออกเป็น 4 เซลล์ โดยมีการสร้างผนังกั้นตามขวางขึ้น 3 อัน อันแรกจะถูกสร้างขึ้นขณะที่นิวเคลียสมีการแบ่งตัวครั้งแรก และอีก 2 อัน เมื่อนิวเคลียสแบ่งตัวครั้งที่สองแต่ละเซลของ basidium ก็เจริญให้ epibasidium นิวเคลียสแต่ละอันก็จะเคลื่อนไปยังส่วนปลายของ epibasidium ซึ่งโป่งพองเกิดเป็น basidiospore ซึ่ง basidiospore เมื่อหลุดออกไปก็จะออกให้เส้นใยใหม่

วงจรชีวิตของเห็ดหูหนูแบบ Heterothallic : มีดังนี้
1.เริ่มจากเห็ดหูหนูเจริญเติบโตเต็มที่จะมีการสร้างสปอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาวหล่น บนพื้นหรือปลิวไปตามสายลม
2.เมื่อสปอร์ของดอกเห็ดปลิวไปตกในบริเวณที่เหมาะสม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และอาหารที่เหมาะสมต่อการาเจริญของเห็ดหูหนู สปอร์ก็จะงอกเส้นใยขั้นแรก (primary mycelium) ออกมา เส้นใยของเห็ดหูหนูจะมีผนังกั้น (Septate hypha) และภายในแต่ละช่องจะมีนิวเคลียส 1 อัน เส้นใยของเห็ดหูหนูจะมีการแตกกิ่งก้านมากมาย แต่ไม่สามารถจะมารวมและพัฒนาเป็นดอกเห็ดได้

3.เส้นใยของเห็ดหูหนูพวก primary mycelium จะต้องมีการผสมกัน หรือรวมกันระหว่างเส้นใยที่เกิดจากต่างสปอร์กัน แต่สามารถเข้ากันได้ (Compatible) หลังจากเกิดการรวมตัวกันก็จะได้เส้นใยขั้นที่ 2 (Secondary mycelium) เส้นใยขั้นที่ 2 จะมีขนาดเล็กกว่าเส้นใยขั้นแรกเล็กน้อย และภายในเส้นใยแต่ละช่อง (Septum) จะมี 2 นิวเคลียสเส้นใยขั้นที่ 2 นี้ระหว่างเซลล์จะมีข้อยึดเรียกว่า Clamp connection เส้นใยขั้นที่ 2 จะเจริญและมีการสะสมของอาหารไว้ในเส้นใยจะสามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป

สภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการเจริญของเห็ดหูหนู :
1.อุณหภูมิ (Temperature) เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่เจริญได้ดีในช่วงอุณหภูมิที่กว้างมาก ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เส้นใยของเห็ดจะไม่ค่อยเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเติบโตของเห็ด คือ 28 องศาเซลเซียสหรือ อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส พบว่าที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส จะชะงักการงอกของสปอร์ การงอกของสปอร์เห็ดหูหนูขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ในสภาพอุณหภูมิต่ำ เห็ดหูหนูจะมีครีบดอกผิดปกติ และมีขนยาว เจริญเติบโตช้า และผลผลิตต่ำ แต่ถ้าอุณหภูมิสูง ดอกเห็ดหูหนูที่ได้จะมีขนาดเล็กเส้นใยโตช้าแห้งง่าย และผลผลิตต่ำ 

2.ความชื้น (Humidity) เห็ดหูหนูจัดเป็นเห็ดที่ชอบความชื้นของอากาศสูง ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ (Relative humidity) ไม่ควรต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในระยะที่เห็ดหูหนูใกล้ออกดอก ควรมีความชื้นไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความชื้นในวัสดุเพาะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหูหนู ควรมีความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งความชื้นในอากาศและความชื้นในวัสดุที่ใช้เพาะ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของเห็ดหูหนู

3.แสงสว่าง (Light) ปกติแสงไม่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดหูหนูมากนัก การเลี้ยงเส้นใยเห็ดหูหนู ควรเลี้ยงในที่มืดแต่หลังจากเส้นใยเจริญเต็มผิวของอาหารวุ้นแล้วควรให้เส้น ใยเห็ด มีโอกาสได้รับแสงบ้างพอสมควร ทั้งนี้เพราะแสงสว่างจะช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดหูหนูรวมตัวกัน และเจริญไปเป็นดอกเห็ดได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าในขณะที่เห็ดหูหนูออกดอกและได้รับแสงสว่างมากเกินไป จะทำให้เห็ดหูหนูมีขนยาว ดอกสีคล้ำแต่ถ้าได้รับแสงน้อยขนจะสั้นและดอกมีสีซีด

4.สภาพความเป็นกรด – ด่าง เห็ดหูหนูเจริญได้ดีในสภาพเป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อย ประมาณ 4.5 – 7.5 คล้ายกับเชื้อราทั่วไป ในการเพาะเห็ดหูหนูจึงควรปรับสภาพของอาหารให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การผลิตก้อนเชื้อเห็ดหูหนู สูตรที่นิยมใช้คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาล 3 – 4 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม ข้าวโพดป่น 3 – 5 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ปูนขาว 0.5 – 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 80 – 90 กิโลกรัม

5.การถ่ายเทของอากาศ (Aeration) การถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนนับว่ามีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหู หนูเช่นกัน ถ้าสภาพของโรงเรือนถ่ายเทอากาศไม่ดี และมีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากๆ ดอกเห็ดจะไม่บานหรือเจริญเติบโตต่อไปตามปกติ แต่ดอกเห็ดจะมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายกระบอง อย่างไรก็ตามถ้าโรงเรือนมีการถ่ายเทอากาศมากเกินไป ดอกเห็ดจะมีลักษณะกระด้างขนยาว ดังนั้น โรงเรือนที่ใช้ในการเพาะเห็ดหูหนูภายในควรบุด้วยพลาสติก พร้อมกับเจาะรูที่พลาสติกเพื่อให้อากาศภายในโรงเรือนถ่ายเทได้ดีพอสมควร


No comments:

Post a Comment